วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เจตนาทางนิติกรรม



         โดยทั่วไปแล้วบุคคลหรือประชาชนมักมีการตกลงหรือติดต่อเพื่อทำธุรกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน ดังนั้นความรู้เรื่องของนิติกรรมและองค์ประกอบของการทำนิติกรรมนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสมบูรณ์ ทั้งนี้เรื่องความสามารถของบุคคลเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อผลของนิติกรรมที่บุคคลได้ทำ ดังนั้นแล้วเราควรมีความรู้ว่าบุคคลประเภทใดที่สามารถทำนิติกรรมได้หรือบุคคลประเภทใดไม่สามารถทำได้


นิติกรรม คืออะไร
        คือการใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ (ป.พ.พ.ม. 149)
        กล่าวโดยย่อ นิติกรรม คือ การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายและมุ่งต่อผลในกฎหมายที่จะเกิดขึ้นอันได้แก่ การเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ มีการก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิและระงับซึ่งสิทธิ เช่น สัญญาซื้อขาย, สัญญากู้เงิน, สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาให้และพินัยกรรมเป็นต้น
        การแบ่งแยกประเภทของนิติกรรม
        1.1 นิติกรรมฝ่ายเดียว ได้แก่ นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวและมีผลตามกฎหมาย ซึ่งบางกรณีก็ทำให้ผู้ทำนิติกรรมเสียสิทธิได้ เช่น การก่อตั้งมูลนิธิ คำมั่นโฆษณาจะให้รางวัล การรับสภาพหนี้ การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ คำมั่นจะซื้อหรือจะขาย การทำพินัยกรรม การบอกกล่าวบังคับจำนอง เป็นต้น
    1.2 นิติกรรมสองฝ่าย (นิติกรรมหลายฝ่าย) ได้แก่ นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปและทุกฝ่ายต้องตกลงยินยอมระหว่างกันกล่าวคือฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาทำเป็นคำเสนอ แล้วอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเป็นเจตนาเป็นคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกันจึงเกิดมีนิติกรรมสองฝ่ายขึ้นหรือเรียกกันว่า สัญญา เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญากู้ยืม สัญญาแลกเปลี่ยน สัญญาขายฝาก จำนอง จำนำ เป็นต้น

















เจตนาทางนิติกรรม
    สามารถแบ่งออกได้หลายกรณี ดังนี้


-การแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง – ลายลักษณ์อักษร, วาจา, กิริยาท่าทาง


-การแสดงเจตนาโดยปริยาย – การคืนสัญญากู้ให้ลูกหนี้, การฉีกสัญญาก็ทิ้ง


-การแสดงเจตนาโดยการนิ่ง - หลักทั่วไป; การนิ่งไม่ถือเป็นการแสดงเจตนา




*เพิ่มเติม*
   ข้อยกเว้นของการแสดงเจตนาโดยการนิ่ง
                 นั้นสามารถแบ่ง 2 กรณี

1.มีกฎหมายบัญญัติรับรองว่าการนิ่งเป็นการแสดงเจตนา เช่น การเช่ามีกำหนดเวลา ครบกำหนด ผู้เช่ายังครอบครองทรัพย์สินที่เช่า โดยผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง มาตรา 570 ถือว่าการนิ่งทำให้เกิดสัญญาเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา 


2.กรณีมีปกติประเพณีทั่วไป หรือปกติประเพณีที่คู่สัญญาประพฤติปฏิบัติต่อกัน

ประเภทของเจตนาในนิติกรรม
    ประเภทของการแสดงเจตนามีหลายรูปแบบ เมื่อเราจะทำนิติกรรมชนิดหนึ่งการรับรู้หรือการแสดงเจตนานั้นมีความสำคัญและส่งผลถึงความสมบูรณ์ของนิติกรรมที่ทำด้วย ดังนั้นแล้วการแสดงเจตนาบางประเภทส่งผลให้นิติกรรมมีผลสมบูรณ์ โมฆะ หรือ โมฆียะ

เจตนาดังต่อไปนี้เป็นเจตนาที่ทำให้นิติกรรมไม่มีผลสมบูรณ์

1.เจตนาซ่อนเร้น
      เป็นการแสดงเจตนาที่เจตนาภายในกับการแสดงออกซึ่งเจตนาไม่ตรงกันโดยผู้แสดงเจตนารู้ตัวโดยไม่มีการสมรู้ร่วมคิดกับบุคคลอื่น การแสดงเจตนาออกมานั้นจะมีผลสมบูรณ์ โดยไม่พิจารณาเจตนาที่แท้จริงภายในของผู้แสดงเจตนาเลย (ทฤษฎีการแสดงออกซึ่งเจตนา) เพื่อคุ้มครองผู้ติดต่อค้าขายกันในสังคม


2.เจตนาลวง
      เป็นการแสดงเจตนาที่เจตนาภายในกับการแสดงออกซึ่งเจตนาไม่ตรงกันโดยผู้แสดงเจตนารู้ตัวโดยสมคบกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อหลอกลวงผู้อื่น ดังนั้นในนิติกรรมฝ่ายเดียวโดยที่ไม่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนาจึงไม่อาจมีกรณีเจตนาลวงได้เนื่องจากไม่มีคู่กรณีอีกฝ่ายให้สมคบกันได้


3.นิติกรรมอำพราง

        เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพื่ออำพรางหรือซ่อนเร้นนิติกรรมที่คู่กรณีมีเจตนาให้มีผลอย่างแท้จริง กล่าวคือ มีการทำนิติกรรม 2 ราย รายหนึ่งเป็นนิติกรรมอำพรางซึ่งจะเปิดเผยออกมาภายนอก เรียกว่า นิติกรรมอำพราง และอีกรายเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางหรือถูกซ่อนเร้นปกปิดไว้เรียกว่า นิติกรรมที่ถูกอำพราง

4.สำคัญผิด 
         การเข้าใจความจริงไม่ถูกต้องในช่วงการแสดงเจตนา เป็นกรณีความนึกคิดของผู้แสดงเจตนาไม่ตรงกับความจริงที่เป็นอยู่ โดยผู้แสดงเจตนาไม่ทราบความจริงดังกล่าวและได้แสดงเจตนานั้นออกมา โดยความสำคัญผิดนั้นอาจเกิดขึ้นจากผู้แสดง  เจตนาเข้าใจผิดเอง หรือคู่กรณีอีกฝ่ายหลอกลวง หรือบุคคลอื่นหลอกลวงให้เข้าใจผิดก็ได้


5.กลฉ้อฉล

        เป็นการใช้อุบายหลอกลวงให้บุคคลอื่นหลงเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงเพื่อให้บุคคลดังกล่าวแสดงเจตนาทำนิติกรรม ผู้แสดงเจตนาได้แสดง  เจตนาไปโดยหลงเชื่อเนื่องจากถูกหลอกลวง


6.ข่มขู่
        เป็นการบังคับให้เกิดความกลัว ภัยเพื่อให้ผู้ถูกข่มขู่แสดงเจตนาทำนิติกรรม การแสดงเจตนาโดยข่มขู่นี้ผู้แสดงเจตนามีใจสมัครที่จะทำนิติกรรม คือมีทางเลือกว่าจะทำนิติกรรมหรือจะยอมรับภัยที่ถูกข่มขู่นั้น การแสดงเจตนาที่เกิดจากการข่มขู่จึงเป็นนิติกรรมแต่เนื่องจากเกิดขึ้นเพราะถูกข่มขู่บังคับกฎหมายจึงถือว่าการแสดงเจตนาทำนิติกรรมดังกล่าวไม่สมบูรณ์คือ ตกเป็นโมฆียะ






ผลของนิติกรรมทางกฏหมาย
1.ผลสมบูรณ์ - มีผลทางกฎหมายสมบูรณ์ ทั้งเจตนาในการทำนิติกรรมและรูปแบบของนิติกรรม
2.โมฆะ - คือนิติกรรมที่ไม่มีผลในทางกฎหมายตั้งแต่แรก เป็นการเสียเปล่า ไม่สามารถบอกล้างหรือให้สัตยาบันได้ เมื่อนิติกรรมเป็นโมฆะจะไม่มีผลในทางกฎหมายมาตั้งแต่เริ่มแรก
3.โมฆียะ - การที่นิติกรรมสามารถบอกล้างให้เป็นโมฆะแต่เริ่มแรกได้ หรือ จะทำการให้สัตยาบันคือการรับรองนิติกรรมนั้นแทนก็ได้  และเมื่อได้ให้สัตยาบันแล้วนั้น นิติกรรมที่ได้มีการให้สัตยาบันแล้วจะมีผลสมบูรณ์มาตั้งแต่เริ่มแรก


*เหตุของโมฆะกรรมและโมฆียะกรรม
   โมฆะกรรม มีดังนี้
1. วัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือ เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
2. มิได้ทำตามแบบถูกต้องของนิติกรรม
3. การแสดงเจตนาซ่อนเร้น
4. การแสดงเจตนาลวง
5. นิติกรรมอำพราง
6. การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม
  โมฆียะกรรม มีดังนี้
1. การแสดงเจตนาดดยผู้หย่อนความสามารถ เช่น ผู้เยาว์ บุคคลวิกลจริต เป็นต้น
2. การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์
3. การแสดงเจตนาเนื่องจากถูกกลฉ้อฉล
4. การแสดงเจตนาเนื่องจากถูกข่มขู่






-------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม


-สุจิต ปัญญาพฤกษ์ . หลักแพ่งและพาณิชย์ พิมพ์ครั้งที่9. สำนักพิมพ์ต้นไผ่


-ศาสตราจารย์ ดร.จิ๊ด เศรษฐบุตร พิมพ์ครั้งที่6  พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่มเติมโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ดาราพร ถิระวัฒน์. หลักกฎหมายแพ่งลักษณะ นิติกรรมและสัญญา. โครงการตำราและเอกสารประกอบการเรียน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลันธรรมศาสตร์


-คำบรรยาย วิชา นิติกรรมและสัญญา. อาจารย์ นาถสินี ยุติธรรมรงค์


-บรรยายสรุป วิชาแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา. ชมรมลูกพ่อขุนประยุกต์


- คู่มือกฎหมายแพ่ง เล่ม 1 ว่าด้วย นิติกรรม สัญญา. พิมพ์ครั้งที่4. อาจารย์ สถิตย์ เล็งไธสง อดีตผู้พิพากษาศาลฏีกา. ตีพิมพ์ปี พ.ศ.2551


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น